Muhammad Ali (1769-1849)

มุฮัมมัด อาลี (๒๓๑๒-๒๓๙๒)

​​​​     ​มุฮัมมัด อาลี เป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์ซึ่งวางรากฐานการสร้างอียิปต์ให้ทันสมัยและเจริญก้าวหน้าแบบชาติตะวันตกโดยเฉพาะด้านการทหาร เขาเป็นนายทหารเชื้อสายแอลเบเนียที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำกองทัพด้วยความสามารถทางการทหารและความสันทัดทางการเมือง และใน ค.ศ. ๑๘๓๘ เป็นผู้นำการประกาศอิสรภาพของอียิปต์จากอำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกี
     อาลีเกิดที่เมืองคาวารา (Kavara) เมืองท่าเล็ก ๆ ตั้งอยู่ชายแดนระหว่างเทรซ (Thrace) กับมาซิโดเนีย (Macedonia) ใน ค.ศ. ๑๗๖๙ บิดาและมารดาเป็นชาวนาอิสระเชื้อสายแอลเบเนีย อาลีได้รับการศึกษาไม่มากนัก เขายึดอาชีพพ่อค้ายาสูบในเมือง

บ้านเกิดอยู่หลายปีก่อนทำงานเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยต่อมา ได้สมัครเป็นทหารในกองทัพตุรกีและใน ค.ศ. ๑๗๙๘ ได้เข้าร่วมทำสงครามต่อต้านกองทัพฝรั่งเศสที่บุกเข้าไปในอียิปต์ซึ่งตุรกีมีอำนาจอยู่ เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับบัญชากรมทหารบาชิ-บาซูก (regiment of bashi-bazouks) ในการต่อสู้ที่เมืองอะบูกีร (Aboukir) เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๙ ทัพของเขาถูกต้อนจนต้องล่าถอยแต่ก็ได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพอังกฤษซึ่งมีเซอร์ซิดนีย์ สมิท (Sidney Smith) เป็นผู้บังคับบัญชา ในยุทธการที่เมืองพีระมิด (Battle of Pyramids) กองทัพฝรั่งเศสซึ่งนำโดย นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* สามารถเอาชนะกองทัพบกของฝ่ายมัมลุก (Mameluke) ผู้ปกครองอียิปต์ได้แต่นโปเลียนไม่สามารถยึดครองอียิปต์ไว้ได้นานเพราะถูกกดดันจากกองทัพอังกฤษและตุรกีใน ค.ศ. ๑๘๐๑ นโปเลียนถอนทหารออกจากอียิปต์ซึ่งทำให้เกิดช่องว่างแห่งอำนาจในอียิปต์ขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อาลีได้นำกองทหารชาวแอลบาเนียออกแสวงหาผลประโยชน์จากการแก่งแย่งอำนาจในอียิปต์ ระหว่างฝ่ายมัมลุกซึ่งปกครองอียิปต์มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๒๕๐ กับฝ่ายพอร์ต (Porte) ซึ่งพยายามแย่งชิงอำนาจโดยขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่ แต่ละฝ่ายจะเสนอให้ ใน ค.ศ. ๑๘๐๓ เขาสนับสนุนฝ่ายมัมลุกแต่ในปีรุ่งขึ้นก็ช่วยสุลต่านตุรกีทำสงครามกับฝ่ายมัมลุกจนมีชัยชนะสุลต่านจึงตอบแทนด้วยการแต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงปกครองอียิปต์ใน ค.ศ. ๑๘๐๕ อย่างไรก็ตาม พวกของมัมลุกก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านเขา อาลีจึงสังหารหมู่พวกมัมลุกทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๘๑๑ ซึ่งทำให้อำนาจของเขามั่นคงมากขึ้น
     อาลีได้พัฒนาอียิปต์ให้ทันสมัยแบบตะวันตกหลายด้านโดยเฉพาะการสร้างกองทัพให้เข้มแข็งด้วยการประยุกต์ระบบกองทัพจากยุโรปมาใช้โดยโดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพเรือและวิศวกรชาวฝรั่งเศสในการจัดระบบของกองทัพเรือให้และมีการเกณฑ์ชาวนาเป็นทหารประจำการ ความแข็งแกร่งของกองทัพในช่วงที่อาลีปกครองทำให้อียิปต์กลายเป็นมหาอำนาจประเทศหนึ่งในดินแดนตะวันออกกลางและสามารถขยายอาณาเขตและอิทธิพลไปได้อย่างกว้างขวาง แต่การสร้างกองทัพอียิปต์ให้ยิ่งใหญ่เช่นนี้ทำให้จำเป็นต้องเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ อาลียังสร้างโครงการสาธารณประโยชน์และสาธารณูปโภคอีกหลายโครงการเพื่อพัฒนาอียิปต์ให้เจริญก้าวหน้า เช่น การสร้างถนนขุดคลอง สร้างระบบชลประทานที่ทันสมัย การจัดตั้งสถาบันการศึกษาแบบตะวันตก ปฏิรูประบบการค้าซึ่งรัฐผูกขาดอยู่และจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นขึ้นรวมทั้งสนับสนุนการปลูกฝ้ายเป็นสินค้าออกซึ่งมีส่วนทำให้อียิปต์เป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม การพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตกนี้ได้นำความยากลำบากและความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะชาวนาอย่างมากเพราะต้องเสียภาษีหนัก
     แม้อาลีจะเป็นเสมือนผู้แทนของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันในการปกครองอียิปต์ แต่เขาก็ดำเนินนโยบายปกครองประเทศที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศทั้งนี้เพราะอำนาจสุลต่านอ่อนแอและมักเกิดการปฏิวัติแย่งอำนาจกันอยู่เนือง ๆ การมีกองทัพที่เข้มแข็งทำให้อาลีบุกเข้ายึดครองวาห์กบิส (Wahhgbis) ในคาบสมุทรอาระเบียและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์คือ เมืองเมกกะ (Mecca) และเมดีนา (Medina) สงครามเพื่อครอบครองเมืองวาห์กบิสยืดเยื้อจนถึง ค.ศ. ๑๘๑๘ แต่ในที่สุดกองทัพของอาลีก็มีชัยชนะ อาลีจึงขยายอำนาจไปยังดินแดนทางใต้ของอียิปต์และใน ค.ศ. ๑๘๒๐ ก็ยึดครองโอเอซิสแห่งซีวา (Siwa) ได้ ในปีเดียวกันสุลต่านมะห์มูดที่ ๒ (Mahmud II ค.ศ. ๑๘๐๘-๑๘๓๙) ได้ขึ้นเป็นสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมัน ทรงพยายามจะสร้างศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ให้แข็งแกร่ง จึงทรงต้องการที่จะปลดอาลีจากตำแหน่งผู้ปกครองอียิปต์เนื่องจากเขามีบทบาทและอำนาจทางการเมืองมาก แต่ต่อมาก็เปลี่ยนพระทัยเพราะต้องการให้อาลีช่วยปราบปรามพวกกรีกในสงครามกู้อิสรภาพกรีก (Greek War of Independence)* ทรงสัญญาว่าหากอาลีช่วยปราบปรามกบฏกรีกก็จะแต่งตั้งเขาเป็นข้าหลวงปกครองซีเรีย อย่างไรก็ตาม แม้อาลีจะสามารถปราบปรามกบฏกรีกและยึดกรุงเอเธนส์ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๒๖ แต่สุลต่านกลับไม่ปฏิบัติตามสัญญาและนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างทั้ง ๒ ฝ่ายใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ซึ่งกลายเป็นปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ด้วยกองทัพบกของอาลีซึ่งบุตรชายของเขาเป็นผู้บัญชาการสามารถยึดครองปาเลสไตน์และซีเรียได้และเคลื่อนทัพประชิดกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่การแทรกแซงของรัสเซียเพื่อช่วยตุรกีได้นำไปสู่การเจรจาเพื่อยุติสงครามใน ค.ศ. ๑๘๓๓ อาลีจึงได้ครอบครองซีเรียและดามัสกัส (Damascus) ความเข้มแข็งของกองทัพอียิปต์และชัยชนะในการทำสงครามหลายครั้งทำให้อาลีมั่นใจในอำนาจและอิทธิพลของตนมากขึ้น ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๓๘ เขาจึงประกาศให้อียิปต์เป็นอิสระจากการปกครองของตุรกี
     ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ สุลต่านมะห์มูดที่ ๒ ได้ก่อสงครามกับอาลีอีกครั้งหนึ่งแต่ก็พ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง ในยุทธการที่คอนยา (Konya) และสิ้นพระชนม์หลังจากนั้นไม่นาน อาลีจึงเห็นเป็นโอกาสเข้าโจมตีเมืองอาเคอร์ (Acre) ของซีเรียและยึดครองได้ ชัยชนะดังกล่าวมีส่วนทำให้เฮนรี จอห์น เทมเพิล ไวส์เคานต์พาล์เมอร์สตันที่ ๓ (Henry John Temple, 3rd Viscount Palmerston) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษซึ่งต้องการลดบทบาทของอาลีและมีนโยบายปกป้องตุรกีมาโดยตลอดตัดสินใจส่งกองทัพเข้าช่วยตุรกีเพื่อฟื้นฟูอำนาจในซีเรีย แม้ฝรั่งเศสจะต่อต้านการแทรกแซงของกองทัพอังกฤษแต่กองทัพเรือฝรั่งเศสก็ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สงคราม ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๔๐ กองทัพของอังกฤษ ออสเตรียและตุรกีทำสงครามกับกองทัพอียิปต์ ต่อมาวันที่ ๑๐ ตุลาคม กองเรืออังกฤษประจำ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนนำโดยนาวาโท ชาลส์ เนเพียร์ (Charles Napier) รองผู้บัญชาการสามารถขับไล่กองทัพอียิปต์จากเมืองท่าชายทะเลและเอาชนะกองทัพบกอียิปต์ได้ ในขณะเดียวกันพลเรือโท เซอร์รอเบิร์ตสตอปฟอร์ด (Robert Stopford) ผู้บัญชาการกองเรืออังกฤษประจำทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทหารตุรกีก็เคลื่อนกำลังเข้าประชิดด้านทิศตะวันตกและทิศใต้ของเมืองอาเคอร์และพร้อมระดมยิงกองทัพอียิปต์ การที่กองเรืออังกฤษจอดทอดสมอใกล้กับชายฝั่งมากทำให้การยิงถล่มของปืนใหญ่มีประสิทธิภาพจนสามารถพิชิตกองทัพอียิปต์และยึดเมืองอาเคอร์กลับคืนได้ การยึดครองซีเรียของอียิปต์จึงยุติลงใน ค.ศ. ๑๘๔๑
     อีก ๗ ปีต่อมา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ อาลีถูกปลดออกจากตำแหน่งข้าหลวงปกครองอียิปต์เพราะป่วยด้วยโรคชราและมีอาการความจำเสื่อม เขาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒ เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ รวมอายุ ๘๐ ปี อิบราฮิม (Ibrahim) และซาอิด (Sa’id) บุตรชาย ๒ คนได้สืบทอดอำนาจแทนตามลำดับแตทั้งคู่ก็เป็นผู้ปกครองที่อ่อนแอซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้อียิปต์ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติตะวันตกในเวลาต่อมา ชาวอียิปต์ยกย่องอาลีเขาเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อียิปต์สมัยใหม่เพราะเป็นผู้นำความทันสมัยจากโลกตะวันตกมาสู่อียิปต์ สร้างความมั่งคั่งและขยายอำนาจอียิปต์ให้ยิ่งใหญ่และเจริญก้าวหน้าแบบชาติตะวันตก.



คำตั้ง
Muhammad Ali
คำเทียบ
มุฮัมมัด อาลี
คำสำคัญ
- สงครามกู้อิสรภาพกรีก
- สตอปฟอร์ด, เซอร์รอเบิร์ต
- ยุทธการที่คอนยา
- โอเอซิสแห่งซีวา
- คาวารา, เมือง
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- เนเพียร์, ชาลส์
- มัมลุก, ฝ่าย
- มุฮัมมัด อาลี
- ออตโตมัน, จักรวรรดิ
- สมิท, เซอร์ซิดนีย์
- ยุทธการที่พีระมิด
- คอนสแตนติโนเปิล, กรุง
- อะบูกีร์, เมือง
- มะห์มุดที่ ๒, สุลต่าน
- ปัญหาตะวันออก
- เทมเพิล, เฮนรี จอห์น ไวส์เคานต์พาล์เมอร์สตันที่ ๓
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1769-1849
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๓๑๒-๒๓๙๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 5.M 395-576.pdf